ประเพณีขึ้นธาตุเดือน ๙

       ประเพณีขึ้นธาตุเดือน ๙ งานขึ้นธาตุเดือน ๙ เป็นงานบุญที่จัดขึ้นเพื่อเป็นการบูชาพระบรมธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมา สัมพุทธเจ้า กำหนดการจัดในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำ เดือน ๙ ของภาคเหนือ หรือตรงกับเดือน ๗ ของไทย ประมาณปลายเดือนพฤษภาคมหรือเดือนมิถุยายนของทุกปี ภายในงานมีการจัดขบวนแห่ เช่น ขบวนกลองยาว ขบวนปัจจัยไทยทาน ขบวนต้นเงิน ขบวนต้นผ้าป่า ขบวนตุงไชย ผ้าห่มองค์พระธาตุ โดยเริ่มจากหนองเล่มผ่านสะพานบุญไปยังวัดพระบรมธาตุ เพื่อทำพิธีถวายผ้าห่มองค์พระธาตุ และทำพิธีบวงสรวงเจดีย์ยุทธหัตถีซึ่งเป็นเจดีย์ที่พ่อขุนรามคำแหงฯ ได้สร้างไว้ในคราวทำสงครามยุทธหัตถีชนะขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด ที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวัดพระบรมธาตุ และทำบุญตักบาตรตามประเพณี ณ วัดพระบรมธาตุ อำเภอบ้านตาก

 
   
     
 
 
 

 งานประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป ๑๐๐๐ ดวง

      งานประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป ๑๐๐๐ ดวง ของจังหวัดตาก เป็นงานประเพณีที่นำหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ภูมิปัญญาชาวบ้าน และงานศิลปวัฒนธรรม มาหล่อหลอมรวมกันจนเกิดเป็นรูปแบบที่โดดเด่น ได้มีการปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาเป็นเวลายาวนานหลายชั่วอายุคน ซึ่งจะแตกต่างกับงานประเพณีลอยกระทงของจังหวัดอื่น เพราะส่วนประกอบของกระทงจะมีการนำ กะลามะพร้าว มาใช้เป็น ส่วนใหญ่ เหตุที่มีการนำเอากะลามาเป็นส่วนประกอบนั้น เนื่องมาจากชาวเมืองตาก มีการนำเอามะพร้าวมาแปรรูปทำเป็นอาหารว่าง ที่เรียกว่า “ เมี่ยง ” โดยถือเป็นอาหารว่างที่ชาวเมืองตากรับประทานเป็นประจำหลังอาหาร ซึ่งมีมะพร้าว ถั่วลิสง ใบเมี่ยงหมัก เป็นส่วนประกอบหลัก นอกจากทำเพื่อรับประทานกันเองภายในครอบครัวแล้ว ยังมีการนำมาขายเป็นอาหารพื้นเมืองและได้รับความนิยมในภาคเหนือโดยทั่วไป กรรมาวิธีในการแปรรูปมะพร้าวเป็น “ เมี่ยง ” นั้น มีการขูดเอาเฉพาะเนื้อมะพร้าวมาทำ ส่วนกะลามะพร้าวจะถูกทิ้งไว้ในบริเวณบ้านเป็นจำนวนมาก ไม่มีการนำเอามาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่

            ครั้นถึงวันเพ็ญ เดือนสิบสอง ( วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินทางจันทรคติ ) ประมาณเดือนพฤศจิกายน ชาวบ้านจึงได้ทดลองนำกะลาด้านที่ไม่มีรูมาทำเป็นกระทง โดยเอากะลามาขัดถูจนสะอาด ตกแต่งลวดลายสวยงาม ภายในกะลาใส่ด้ายดิบที่ฟั่นเป็น รูปตีนกา แล้วหล่อ เทียนขี้ผึ้ง ซึ่ง นำมาจากเทียนจำนำพรรษาที่พระสงฆ์จุดเพื่อทำพิธีสวดมนต์ในโบสถ์วิหารตลอดสาม เดือน หลังจากออกพรรษาชาวบ้านจะนำเทียนขี้ผึ้งเหล่านั้นมาหล่อใส่ในกะลา ซึ่งถือว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์และเป็นศิริมงคลแก่ผู้นำไปลอย ก่อนที่จะปล่อยลงลอยในแม่น้ำปิง ประกอบกับแม่น้ำปิงที่ไหลผ่านจังหวัดตากจะเกิดสันทรายใต้น้ำ ทำให้เกิดเป็นร่องน้ำที่สวยงามเป็นธรรมชาติ เมื่อนำ กระทงกะลา ลงลอย กระทงกะลาจะไหลไปตามร่องน้ำดังกล่าว ทำให้ดูเป็นสายอย่างต่อเนื่อง จนสุดสายตา ซึ่งไฟในกะลาจะส่องแสงระยิบระยับเต็มท้องน้ำ 
 
   
     
 
 

แหล่ส่างลอง

 แหล่ส่างลอง ประกอบพิธีที่วัด แม่ซอดน่าด่าน อำเภอแม่ระมาด กลางเดือนมีนาคม – ต้นเดือนเมษายน

วัตถุประสงค์
 ๑. เป็นการอนุรักษ์ประเพณีที่มีมา แต่เดิม
 ๒. ให้เด็กนักเรียนได้ใช้เวลาระหว่างปิดภาคเรียนได้มีโอกาสศึกษาพระธรรมคำสั่ง สอนทางพระพุทธศาสนา
 ๓. พ่อแม่ ผู้ปกครองที่ส่งบุตรหลานเข้าบวช ถือ เป็นอานิสงส์ที่ยิ่งใหญ่ พิธีกรรม “แหล่”เป็นคำภาษาไทยใหญ่ แปลว่า แห่ “ส่างลอง” หมายถึง ลูกแก้ว ชาวไทยใหญ่ และชาวไทยใหญ่ผู้นับถือพระพุทธศาสนา
ในเขตอำเภอแม่สอด มักจะทำการบวชเณร ซึ่งเป็นลูกแก้ว หรือหลาน ของตนเองในช่วงปิดภาคเรียน ระหว่างเดือนมีนาคม -เดือนเมษายน ของทุก ๆ ปี เนื่องจากว่างจากการทำงาน และลูกหลานไม่ได้ไปโรงเรียน ทั้งต้องการให้ลูกหลาน ได้มีโอกาสได้ศึกษาพระธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าในช่วงปิดเทอมนี้ด้วย เนื่องจากว่างจากการทำงานและลูกหลานไม่ได้ไปโรงเรียนทั้งต้องการให้ลูกหลานได้มีโอกาสได้ศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าใน ช่องปิดเทอมนี้ด้วย การจัดงานบวชลูกแก้ว (แหล่ส่างลอง) นั้นถือว่า ผู้ที่บวชเณรลูกชายตนเองจะได้บุญหรืออานิสงส์มากถึง ๗ กัลป์ ถ้าบวชเณรลูกชายคนอื่นจะได้บุญ ๔ กัลป์ และถ้าบวชลูกชายตนเองเป็นพระภิกษุ จะได้บุญถึง ๑๖ กัลป์ ถ้าบวชลูกชายคนอื่นเป็นพระภิกษุจะได้บุญถึง ๘ กัลป์ จึงมักจะมีผู้ที่มีฐานะดีหลายคน จะนิยมหาเด็กผู้ชายมาบวช โดยจะไปทาบทามจากผู้ปกครองที่มีฐานะยากจน และถือเป็นการสร้างบุญกุศลร่วมกันด้วย ลักษณะในการบวชเณรของชาวแม่สอดจะมี แบบข่านหลิบ(บวชเรียบง่าย) คือ ผู้ที่ตกลงใจบวช พ่อ แม่ ผู้อุปถัมภ์ก็จะนำผู้ที่บวชไปโกนหัว นุ่งผ้าขาว พร้อมด้วยการนำสำรับกับข้าว แบบข้าวหม้อแกงหม้อ ไปวัดให้พระภิกษุสงฆ์ทำพิธีบวชเณรให้ก็เป็นอันเสร็จ ซึ่งมีความสะดวกหลายประการ ทั้งยังเป็นการประหยัดทรัพย์ 
   
     
 
 
 

 

กระทำกัน

     กระทำกัน ในเขตอำเภอซีกตะวันตกของจังหวัดตาก ๕ อำเภอ คือ อำเภอท่าสองยาง อำเภอแม่ระมาด อำเภอแม่สอด อำเภอพบพระ อำเภออุ้มผาง และอำเภอบ้านตาก อำเภอเมืองตาก บางส่วนกำหนดภายในเดือนสิบ (เดือนสิบสองเหนือคือก่อนออกพรรษา ๑ เดือน) วัตถุประสงค์

 ๑. รักษาเป็นประเพณี เพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้วายชนม์
 ๒. เพื่อให้พระภิกษุสามเณร ได้มีปัจจัยของใช้พอควรในสมณเพศ
 ๓. จัดหากองทุนและสิ่งของใช้ประจำวัด 
๔. เสริมสร้างความสามัคคีพร้อมเพรียงในหมู่คณะ ตานก๋วยสลากเป็นประเพณีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย โดยการจัดของทยทานบรรจุในชะลอม (ก๋วย) ใบเล็กๆ ของไทยทานที่ใส่ในชะลอมจะเป็นพวกอาหาร ขนม ผลไม้หรือของใช้อื่นๆ แล้วรวบรวมนำไปถวายพระที่วัด ไม่เฉพาะเจาะจงพระผู้รับ แต่จะถวายโดยการจับฉลาก
 
   
     
 
 
 

 

ประเพณีตานต้อด

       ประเพณีตานต้อด    คำว่า “ตานต๊อด”  ภาษากลาง คือ ทานทอด เป็นคำประสมระหว่างคำว่า ทาน กับ ทอด ความหมายคือ  “วางของให้”  ก็คือการให้ทาน  ซึ่งเป็นประเพณีที่แสดงถึงความเอื้ออาทรของชาวบ้านที่มีต่อคนทุกข์ยาก เป็นการทำบุญด้วยใจไม่หวังผลตอบแทน ประเพณีตานต๊อดมีต้นกำเนิดมาจากล้านนา  ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการทำบุญประเภทนี้จึงมีแต่เฉพาะทางภาคเหนือของประเทศไทยเท่านั้น และในปัจจุบันการตานต๊อดไม่ค่อยแพร่หลาย  เด็ก และเยาวชนรุ่นหลังส่วนใหญ่ไม่รู้จักประเพณีตานต๊อดกันแล้ว จึงน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งว่า หากไม่มีการอนุรักษ์ฟื้นฟู ประเพณีที่ดีงามดังกล่าวจะสูญหายไปจากสังคมไทย ประเพณีตานต๊อด ยังพอมีให้พบเห็นอยู่บ้างที่ตำบลแม่จะเรา   อำเภอแม่ระมาด  จังหวัดตาก เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชนที่ย้ายถิ่นฐานมาจากจังหวัดทางภาคเหนือของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดลำปาง  และจังหวัดลำพูน ดังนั้น จึงสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นดั้งเดิมของชาวล้านนาไว้ แต่จะจัดกิจกรรมเฉพาะกลุ่มผู้เฒ่าผู้แก่เท่านั้นส่วนเด็กและเยาวชนในตำบลมีน้อยคนนักที่จะรู้จักประเพณีตานต๊อด เนื่องจากข้อจำกัดของพิธีตานต๊อดที่เป็นสาเหตุให้เด็กและเยาวชนไม่รู้จักก็คือ พิธีตานต๊อดจะจัดในช่วงกลางคืน เวลาประมาณ  ๒๒.๐๐ –๒๔.๐๐  น. ซึ่งเด็ก ๆ นอนหลับกันหมดแล้ว  จึงมีแต่กลุ่มผู้ใหญ่เท่านั้นที่ไปร่วมกิจกรรมดังกล่าว   

          จากคำบอกเล่าของ ลุงหนานต๊ะ (นายจรูญ  สร้อยคำ)   ภูมิปัญญาท้องถิ่นตำบลแม่จะเรา
เล่าว่า  “ตานต๊อด”  หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  “ตานต๊อดผ้าป่า”  นิยมจัดในฤดูหนาว เดือนพฤศจิกายนหรือในช่วงเทศกาลลอยกระทง หลังจากที่มีการลอยกระทงไปแล้ว การตานต๊อด จะทำวันใดเดือนใดก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเดือดร้อนของเพื่อนบ้าน ส่วนมากจะถวายแด่พระผู้เฒ่า หรือมีข่าวว่าพระรูปนี้จะสิกขา ลาเพศ เป็นที่น่าเสียดายของบรรดาศรัทธา การตานต๊อดผ้าป่า จึงเป็นการป้องกันการลาศึกของพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเคร่งครัดในพระธรรมวินัย การทำบุญประเภทนี้จะจัดกันอย่างเรียบง่าย รวมกันพร้อมแล้วก็ทำได้เลยพิธีการทำบุญ “ตานต๊อด”หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ตานต๊อดผ้าป่า”  เป็นการช่วยเหลือหรือสงเคราะห์กันเองของชาวบ้าน เรียกว่า ทานมัย  ถือเป็นการสร้างกุศลอันยิ่งใหญ่ และชาวบ้านมีความเชื่อว่าหากทำให้ผู้ที่ได้รับตกใจมากเท่าใด ก็ยิ่งได้บุญกุศลมาก และในแต่ละปีจะทำวันใดก็ได้ไม่จำกัด ขึ้นอยู่กับความเดือดร้อนของเพื่อนบ้าน หรือพระสงฆ์ก็ได้  ประเพณีการตานต๊อด  โดยมีผู้นำในการตานต๊อด อาจจะเป็นผู้นำชุมชน หรือผู้ใหญ่บ้าน กำนัน พระภิกษุสงฆ์  หรือบุคคลทั่วไปที่มีความประสงค์ต้องการทำบุญ
โดยมีรายละเอียดและขั้นตอนพิธีกรรม ดังนี้
     จัดประชุมชาวบ้าน เพื่อปรึกษาหารือและสำรวจความคิดเห็นว่า บุคคลใดในหมู่บ้านที่ได้รับความเดือดร้อน สมควรได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้าน และนัดหมายเวลา พร้อมจุดนัดพบเพื่อรวมตัวกันไปทำพิธีตานต๊อด ณ บ้านของเพื่อนบ้านที่ต้องการจะช่วยเหลือการเตรียมงานเริ่มที่บ้านหรือศาลาวัด เพื่อรวบรวมสิ่งของให้ครบทั้งเครื่องอุปโภค และบริโภค ตลอดจนเครื่องมือ เครื่องใช้ ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต อาทิ  ข้าวสารอาหารแห้ง  ปลากระป๋อง  พริกแห้ง  กะปิ  น้ำปลา เกลือหัวหอม หัวกระเทียม  น้ำมันพืช  ขนม นม  ฯลฯ  และถ้าเป็นของใช้ ได้แก่  สบู่ยาสีฟัน  ผงซักฟอก  ยาสระผม  มีด พร้า ขวาน  จอบ  เสียม  หม้อข้าว  หม้อแกง  ถ้วย ชาม หม้อน้ำ  หม้อนึ่งข้าว  เสื่อสาด หมอน มุ้ง  รองเท้า  เสื้อผ้า  ผ้าขาวม้า  ผ้าเช็ดตัว  ฯลฯ แล้วแต่จิตศรัทธาจะทำบุญ นำสิ่งของทั้งหมดมาแต่งดา และอาจมีต้นเงินเพื่อนำเงินที่ชาวบ้านทำบุญมาเสียบไว้ที่ต้นเงิน จัดทำกันแบบเงียบ ๆและเรียบง่ายไม่มีพิธีรีตองโดยรู้กันเฉพาะกลุ่มที่จะทำบุญเท่านั้น ใครรู้ก็มาช่วยกันการตานต๊อด  จะทำในเวลากลางคืน เวลาประมาณ  ๔ - ๕ ทุ่ม  เมื่อชาวบ้านมารวมตัวกัน
นัดพบหรือจุดที่เตรียมของแล้ว  อาจนิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธี หรือคนที่เคยบวชเรียนมาแล้ว ชาวบ้านเรียกว่า “พ่อหนาน” จะเป็นผู้ทำพิธีสวดและพรมน้ำมนต์สิ่งของทั้งหมดที่จะตานต๊อด  เพื่อความเป็นสิริมงคล
แล้วจึงช่วยกันถือของที่จะตานต๊อดพากันเดินไปยังบ้านหรือกุฏิอย่างเงียบ ๆ ไม่ส่งเสียงดังแล้วนำเอาของทั้งหมดไปวางไว้บริเวณหน้าบ้าน เช่น  หัวกระไดบ้าน หรือหน้ากุฏิ  เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็จุดเทียน ธูปบูชา ตั้งจิตภาวนา เอาบุญเสร็จแล้ว จึงจุดประทัดชนิดต่าง ๆ ที่มีเสียงดัง เพื่อให้เจ้าของบ้านตกใจตื่น ส่วนคณะศรัทธาเจ้าภาพที่มากันทุกคน ก็พากันหลบซ่อนหมดไม่ให้เห็นตัว คอยแอบดูว่าผู้รับจะออกมารับด้วยวิธีใด เมื่อเจ้าของบ้านเปิดประตูออกมาจะเห็นเทียนจุดอยู่หลายเล่มใกล้ ๆ กับสิ่งของที่นำไปให้ก็จะทราบว่ามีคนเอาของมาวางไว้ให้ ถ้าคนเคยบวชเรียนมาแล้วก็จะกล่าวว่า “อิทังเป๋นะปะติถัง”“นี่เป็นของผีหรือของคน”แล้วเข้าไปจุดธูปไหว้พระในบ้าน ทำเช่นนี้ประมาณ ๓  ครั้ง จึงพูดว่า “เห็นทีจะเป็นของคนแน่แล้ว จะรับไว้แล้วนะ ขอให้รับพรด้วย”แล้วก็กล่าวคำให้ศีลให้พรคณะศรัทธาทั้งหมดที่หมอบอยู่ก็พากันยกมือไหว้รับพร เสร็จแล้วจึงแยกย้ายกันกลับบ้านด้วยความอิ่มเอมใจในผลบุญที่ได้ทำร่วมกัน