นิทรรศรัตนโกสินทร์ ท่องไปในเรื่องราวตำนานการสร้างกรุงเทพและเรียนรู้วิถีไทยในอดีตแบบไม่น่าเบื่อกับ นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ภายในอาคารจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับรัตนโกสินทร์ด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัยทั้งสื่อจัดแสดงหุ่นจำลอง การนำสื่อผสมเสมือนจริง4มิติ สื่อมัลติทัชมัลติมีเดียอะนิเมชั่น ในลักษณะอินเตอร์เอคทีฟเซล์ฟเลิร์นนิ่ง(InteractiveSelflearning)โดยแบ่งการจัดแสดงนิทรรศการออกเป็น9ห้องจัดแสดง

นอกจากนี้ยังมีพื้นที่สำหรับนิทรรศการหมุนเวียน(Event Hall)ที่บริเวณโถงชั้น1พื้นที่ประมาณ300ตรม.เพื่อสำหรับให้บริการแก่สถาบันการศึกษาและองค์กรเอกชน ในการใช้จัดกิจกรรมหรือนิทรรศการทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมตลอดจนบริการห้องสมุดร้านค้าจำหน่ายของที่ระลึก อาหารเครื่องดื่ม นอกจากนี้ ที่ชั้น 4 ยังเป็นจุดชมวิวในมุมสูง ที่สวยงามของถนนราชดำเนินอีกด้วย

การเดินทาง : จากถนนราชดำเนินมุ่งหน้าสนามหลวง ก่อนถึงแยกคอกวัวให้สังเกตซ้ายมือ จะเห็นป้ายชัดเจน

เวลาเปิด - ปิด : อังคาร - ศุกร์ เวลา 10.00 - 20.00 น. และเสาร์ - อาทิตย์ เวลา 10.00 - 20.00 น. หยุดทุกวันจันทร์

 
     
 
 
     
 
 
     
       พระบรมมหาราชวัง ตั้งอยู่บริเวณถนนหน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร จากเดิมเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีต ปัจจุบันพระบรมมหาราชวังถือเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวห้ามพลาดของนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ที่ต่างเดินทางเข้ามาชมความงดงามของหมู่พระที่นั่งที่ตั้งอยู่เบื้องหลังกำแพงสีขาว และแวะสักการะพระแก้วมรกตที่ประดิษฐานในบริเวณพระบรมมหาราชวัง  
     
 
 
     
 
 
     
 

     วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า วัดพระแก้ว เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2325 เป็นวัดในพระบรมมหาราชวัง ทั้งยังเป็นวัดที่สำคัญและเป็นที่เชิดหน้าชูตาของบ้านเมือง ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศภายในประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรหรือพระแก้วมรกต พระคู่บ้านคู่เมืองของแผ่นดินสยาม

(** สำหรับนักท่องเที่ยวที่เข้าชมภายในวัด ไม่ควรใช้แฟลชถ่ายภาพจิตรกรรมฝาผนัง และไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพภายในพระอุโบสถเด็ดขาด)

 
     
 
 
     
 
 
     
       วัดอรุณราชวราราม หรือที่นิยมเรียกกันในภาษาพูดว่า วัดแจ้ง หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า วัดอรุณ เป็นวัดโบราณ สร้างในสมัยอยุธยา ว่ากันว่าเดิมเรียกว่า วัดมะกอก และกลายเป็นวัดมะกอกนอกในเวลาต่อมา เพราะได้มีการสร้างวัดขึ้นอีกวัดหนึ่งในตำบลเดียวกัน แต่อยู่ในคลองบางกอกใหญ่ชาวบ้านเรียกวัดที่สร้างใหม่ว่า วัดมะกอกใน (วัดนวลนรดิศ) แล้วจึงเรียกวัดมะกอกซึ่งอยู่ปากคลองบางกอกใหญ่ว่า วัดมะกอกนอก ส่วนเหตุที่มีการเปลี่ยนชื่อเป็นวัดแจ้งนั้น เชื่อกันว่า เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงตั้งราชธานีที่กรุงธนบุรีใน พ.ศ. 2310 ได้เสด็จมาถึงหน้าวัดนี้ตอนรุ่งแจ้ง จึงพระราชทานชื่อใหม่ว่าวัดแจ้ง แต่ความเชื่อนี้ไม่ถูกต้อง เพราะเพลงยาวหม่อมภิมเสน วรรณกรรมสมัยอยุธยาที่บรรยายการเดินทางจากอยุธยาไปยังเพชรบุรี ได้ระบุชื่อวัดนี้ไว้ว่าชื่อวัดแจ้งตั้งแต่เวลานั้นแล้ว  
     
 
 
     
 
 
     
       สวนสัตว์ดุสิตเดิมเป็นพระราชอุทยานส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2438 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้สร้างขึ้นบริเวณที่ราบด้านตะวันออกของพระราชวังดุสิต ตามแบบอย่างของต่างประเทศที่พระองค์เคยเสด็จไปทอดพระเนตร การสร้างก่อสร้างพระราชอุทยานเริ่มด้วยการขุดสระน้ำขนาดใหญ่เป็นรูปพระราชหัตถเลขา พระปรมาภิไธยย่อ "จ.ป.ร." ขุดคูคลองระบายน้ำ ทำถนนเชื่อมตัดผ่านจากคลองเปรมประชากรเข้าไปโดยรอบหลายเส้นทาง ดินที่ขุดขึ้นมาได้นำมาใช้ในการถมเนินและปลูกต้นไม้ พระองค์จึงโปรดเรียกที่นี้ว่า "เขาดินวนา"พระราชอุทยานแห่งนี้ใช้เป็นที่เสด็จประพาส เพื่อทรงเปลี่ยนพระราชอิริยาบถแต่เพียงอย่างเดียว ยังไม่มีการนำสัตว์ชนิดใดมาเลี้ยงไว้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระราชอุทยานสวนดุสิตแห่งนี้ ถูกปล่อยทิ้งรกร้างเป็นเวลาหลายสิบปีใน พ.ศ. 2481 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทานสวนดุสิต มาจัดตั้งเป็นสวนสัตว์และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน เพิ่มเติมจากสวนลุมพินี มีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ ทั้งยังพระราชทานกวางดาว ลูกหลานกวางดาวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำมาจากอินโดนีเซีย เมื่อครั้งเสด็จประพาสหมู่เกาะชวา เมื่อ พ.ศ. 2451 และสัตว์อื่นอีก 2-3 ชนิด จากสวนกวางบริเวณพระที่นั่งอัมพรสถาน มาเลี้ยงไว้ในเขาดินวนา ตั้งชื่อสวนสัตว์นี้ว่า "สวนสัตว์ดุสิต"