จังหวัดลำปาง  
 
 
     จังหวัดลำปาง เป็นจังหวัดที่มีความเก่าแก่และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มาแล้วไม่น้อยกว่า 1,300 ปี ตั้งแต่สมัยหริภุญชัย (พระนางจามเทวี) เป็นต้นมา คือ ราวพุทธศตวรรษที่ 13 ชื่อของเมืองเขลางค์อันเป็นเมืองในยุคแรก ๆ และเมืองนครลำปาง ปรากฏอยู่ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายแห่ง ทั้งจากตำนานศิลาจารึกพงศาวดาร และจากคำที่นิยมเรียกกันโดยทั่วไปอย่างแพร่หลาย ได้แก่ตำนานจามเทวี ชินกาลบาลีปกรณ์ ตำนานมูลศาสนา ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ตำนานเจ้าเจ็ดตน พงศาวดารโยนก
       คำว่า '"ละกอน" หรือ "ละคร" (นคร) เป็นชื่อสามัญของเมืองเขลางค์ที่นิยมเรียกกันอย่างแพร่หลาย ทั้งในตำนานและภาษาพูดโดยทั่วไป แม้แต่จังหวัดใกล้เคียงเช่น แพร่ น่าน เชียงราย ลำพูน เชียงใหม่ มักจะเรียกชาวลำปางว่า "จาวละกอน" ซึ่งหมายถึง ชาวนคร คำว่าละกอนมีชื่อทางภาษาบาลีว่า เรียกว่า "เขลางค์ "เช่นเดียวกับ ละพูรหรือลำพูน ซึ่งทางภาษาบาลีเรียกว่า "หริภุญชัย"และเรียกลำปางว่า "ลัมภกัปปะ" ดังนั้น เมืองละกอนจึงหมายถึง บริเวณอันเป็นที่ตั้งของเมืองเขลางค์ คือเมืองโบราณรูปหอยสังข์ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำวัง อยู่ในตำบลเวียงเหนือ อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง
       ส่วนคำว่า"ลำปาง" เป็นชื่อที่ปรากฎหลักฐานอย่างชัดแจ้งในตำนานพระธาตุลำปางหลวง ซึ่งมีชื่อเรียกเป็นภาษาบาลีว่า "ลัมภกัปปนคร" ตั้งอยู่บริเวณลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง อยู่ห่างจากตัวเมืองลำปางไปทางทิศใต้ตามแม่น้ำวังประมาณ 16 กิโลเมตร อันเป็นที่ตั้งของวัดพระธาตุลำปางหลวงในปัจจุบัน ตัวเมืองลัมภกัปปนครมีพื้นที่ประมาณ 200 ไร่
       ลักษณะของเมือง ศึกษาดูจากภาพถ่ายทางอากาศและการเดินสำรวจทางภาคพื้นดิน พบว่ามีคันคูล้อมรอบ 3 ชั้น (แต่ปัจจุบันเหลือเพียงบางส่วนเท่านั้น) นอกจากนี้พบเศษกระเบื้อง ภาชนะดินเผา เศียรพระพุทธรูปดินเผาสมัยหริภุญชัยและสถูปแบบสมัยหริภุญชัย สันนิษบานว่าเมืองลัมภกัปปะนี้น่าจะเป็นเมืองกัลปนาสงฆ์ (เมืองทางศาสนา) มากกว่าจะเป็นเมืองทางอาณาจักรที่มีอำนาจทางการปกครองบ้านเมืองอย่างเป็นระเบียบแบบแผน
       ตามตำนาน วัดพระธาตุลำปางหลาง (ฉบับสาขาสมาคม เพื่อการรักษาสมบัติวัฒนธรรมประจำจังหวัดลำปาง) ได้กล่าวถึงเรื่องราวของเมืองลำปางไว้ว่า
       "พระพุทธเจ้าได้เสด็จด้วยลำดับบ้านใหญ่เมืองน้อย ทั้งหลาย พระพุทธเจ้าไปรอดบ้านอันหนึ่งชื่อ ลัมพการีวัน พระพุทธเจ้านั่งอยู่เหนือดอยม่อนน้อย สูงสะหน่อย ยังมีลัวะ ชื่ออ้ายคอน มันหันพระพุทธเจ้า เอาน้ำผึ้งใส่กระบอกไม้ป้างมาหื้อทานแก่พระพุทธเจ้า กับหมากพ้าว 4 ลูก พระพุทธเจ้ายื่นบอกน้ำเผิ้งหื้อแก่มหาอานนท์ถอกตกปากบาตร พระพุทธเจ้าฉันแล้ว ชัดบอกไม้ไปตกหนเหนือ แล้วพระพุทธเจ้าทำนายว่า สถานที่นี้จักเป็นเมืองอันหนึ่งชื่อ "ลัมภางค์"
       ดังนั้นนามเมืองลำปาง จึงหมายถึงชื่อของเมืองอันเป็นที่ตั้งของพระธาตุลำปางหลวงในปัจจุบัน
       จังหวัดลำปางเดิมชื่อ "เมืองนครลำปาง" จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้ระบุไว้อย่างชัดเจน ได้แก่ ศิลาจารึก เลขทะเบียน ลป.1 จารึกเจ้าหมื่นคำเพชรเมื่อ พ.ศ.2019 และศิลาจารึกเลขทะเบียน ลป.2 จารึกเจ้าหาญสีทัต ได้จารึกชื่อเมืองนี้ว่า "ลคอร" ส่วนตำนานชินกาลมารีปกรณ์ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ตำนานเมืองเชียงแสน ตลอดจนพงศาวดารของทางฝ่ายเหนือ ก็ล้วนแล้วแต่เรียกชื่อว่า เมืองนครลำปาง แม้แต่เอกสารทางราชการสมัยรัตนโกสินตอนต้น ก็เรียกเจ้าเมืองว่า พระยานครลำปาง นอกจากนี้จารึกประตูพระอุโบสถวัดบุญวาทย์วิหาร ก็ยังมีข้อความตอนหนึ่งจารึกว่า เมืองนครลำปาง แต่เมื่อมีการปฏิรูปบ้านเมืองจากมณฑลเทศาภิบาลเป็นจังหวัด ตามคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2459 ปรากฏว่า ชื่อของเมืองนครลำปาง ได้กลายมาเป็นจังหวัดลำปาง มาจนกระทั่งทุกวันนี้